การกำกับดูแลกิจการ
บริษัทยึดมั่นและส่งเสริมหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในทุกระดับขององค์กรอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน
โดยบริษัทเชื่อมั่นว่าการมีระบบบริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน และผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างผลตอบแทนและเพิ่มมูลค่าสูงสุด รวมทั้งเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของบริษัทให้เติบโตอย่างยั่งยืน
คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่และความรับผิดชอบหลักในการกำหนดกรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดี วางกลยุทธ์ นโยบายสำคัญ และดูแลให้บริษัทมีการดำเนินการตามกลไกการกำกับดูแลกิจการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังนั้น คณะกรรมการบริษัทจึงได้กำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ครอบคลุมและสอดคล้องกับข้อพึงปฏิบัติที่ดีสำหรับกรรมการบริษัทจดทะเบียน และเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2556 รวมทั้งหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2560 ตามแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“สำนักงาน ก.ล.ต.”) กำหนด
นอกจากนี้ บริษัทได้ทบทวนหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นประจำทุกปี พร้อมทั้งปรับปรุงนโยบาย แนวปฎิบัติ และระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลกิจการ ซึ่งรวมถึงการนำแนวทางการปฏิบัติที่ดีในระดับประเทศและระดับสากลมาปรับใช้เพื่อให้มั่นใจว่าแนวทางปฏิบัติดังกล่าวเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อย
นโยบายการกำกับดูแลกิจการ ประกอบด้วยประเด็นสำคัญดังนี้
สิทธิของผู้ถือหุ้น:
บริษัทเคารพและส่งเสริมการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถือหุ้น โดยไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิดหรือลิดรอนสิทธิของผู้ถือหุ้น รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิของตน โดยผู้ถือหุ้นมีสิทธิในการมีส่วนร่วมตัดสินใจที่สำคัญ เช่น การเลือกตั้งกรรมการบริษัท และการอนุมัติการดำเนินงานที่สำคัญ ตลอดจนสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการตัดสินใจ
การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียม:
บริษัทดูแลและปฎิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ทั้งผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นที่ไม่เป็นผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ถือหุ้นรายย่อย ผู้ถือหุ้นในประเทศ หรือผู้ถือหุ้นต่างชาติ โดยมีแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่ การจัดประชุมผู้ถือหุ้นที่มีขั้นตอนการลงคะแนนเสียงที่โปร่งใสและเป็นธรรม การให้ความสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง ทันเวลา และมีมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์และการป้องกันการนำข้อมูลภายในไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ซึ่งแนวทางปฏิบัติดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้บริษัทมีความโปร่งใสและได้รับความไว้วางใจจากผู้ถือหุ้น
บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย:
บริษัทตระหนักและเคารพในสิทธิและผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ทั้งผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า คู่แข่งทางการค้า เจ้าหนี้ และสังคมส่วนรวม โดยมีความมุ่งมั่นในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างเท่าเทียมและถูกต้องตามหลักจริยธรรม ทั้งนี้ บริษัทให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม แผนงานด้านความยั่งยืน และการสื่อสารที่โปร่งใส เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและมูลค่าในระยะยาว โดยยึดหลักการสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างบริษัทและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย เพื่อประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน
การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส:
บริษัทรักษามาตรฐานความโปร่งใสในระดับสูง โดยการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และตรงเวลา เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย ทั้งรายงานทางการเงิน แนวปฏิบัติในการกำกับดูแลกิจการ และข้อมูลสำคัญอื่นที่มีผลต่อราคาหลักทรัพย์และการตัดสินใจของผู้มีส่วนได้เสีย
ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ:
คณะกรรมการบริษัทได้จัดองค์ประกอบของโครงสร้างคณะกรรมการให้มีความสมดุล ประกอบด้วยกรรมการที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย โดยมีการกำหนดบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบไว้อย่างชัดเจน เพื่อสามารถให้คำแนะนำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการกำกับดูแลทิศทางกลยุทธ์และการดำเนินการของฝ่ายบริหารในระดับนโยบาย ในขณะที่ยังคงรักษามาตรฐานจริยธรรมและความถูกต้องตามข้อกำหนดของกฎหมาย ทั้งนี้ บริษัทได้จัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอ เพื่อใช้เป็นกรอบในการตรวจสอบและปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับแนวนโยบายที่กำหนด