24
ก.พ.
2565

AAV เผยผลประกอบการไตรมาส 4 และตลอดปี 2564 ธุรกิจปรับตัวดีแต่ช้ากว่าที่คาด จากราคาน้ำมันและผลกระทบโควิด-19 หลายระลอก

Share

ตั้งเป้าหมายปี 2565 ยอดผู้โดยสาร 12.3 ล้านคน อัตราขนส่งร้อยละ 78 เดินหน้าธุรกิจต่อเนื่องหลังเพิ่มทุนสำเร็จอย่างดี พร้อมสร้างโอกาสเเละขยายการเติบโตใน airasia Super App

กรุงเทพ 24 กุมภาพันธ์ 2565 – บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (“AAV”) ผู้ถือหุ้นใหญ่ บจ.ไทยแอร์เอเชีย (“TAA”) ประกาศผลประกอบการไตรมาส 4/2564 มีรายได้รวม 2,152 ล้านบาท ขาดทุน 993 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวในทิศทางที่ดีแต่ช้ากว่าที่คาดการณ์ สืบเนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ข้อกำหนดการคัดกรองผู้โดยสารจากต่างประเทศ และแผนชะลอการเปิดประเทศช่วงปลายปี

ในขณะที่ตลอดปี 2564 AAV มีรายได้รวม 4,508 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุน 6,647 ล้านบาท จากผลกระทบโดยรวมของการเเพร่ระบาดของโควิด-19 หลายระลอก กอปรกับภาครัฐได้ประกาศให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศยานในเส้นทางการบินภายในประเทศ ห้ามปฏิบัติการบินรับส่งผู้โดยสารเข้าหรือออกพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ส่งผลให้เที่ยวบินภายในประเทศจำเป็นต้องระงับชั่วคราวในช่วงไตรมาสที่ 3 เกือบทั้งหมด อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายปี TAA กลับมาให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศสู่ประเทศมัลดีฟส์ และกัมพูชาอีกครั้ง ตามนโยบายเปิดประเทศ โครงการ Test & Go ก่อนการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งทำให้รัฐบาลระงับโครงการ Test & Go ชั่วคราวอีกครั้ง ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารตลอดปี 2564 อยู่ที่ 2.93 ล้านคนและมีอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 68 ตลอดทั้งนี้ TAA รักษามาตรฐานความตรงต่อเวลาของเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง มีอัตราการตรงต่อเวลาเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 97 จากร้อยละ 96 ของปีก่อน ดีกว่าเป้าหมายกลยุทธ์ของบริษัทตามนโยบายความยั่งยืนที่ร้อยละ 90

เร็ว ๆ นี้ AAV และบริษัทย่อย ดำเนินการตามแผนปรับโครงสร้างและเพิ่มทุนแล้วเสร็จเป็นจำนวนเงิน 14,000 ล้านบาท พร้อมทั้งทำธุรกรรมขายและเช่ากลับเครื่องบินจำนวน 7 ลำ เป็นมูลค่าสุทธิราว 1,700 ล้านบาท เพื่อเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนและสภาพคล่องให้ธุรกิจ ได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและเติบโตอย่างยั่งยืน

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ. ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ปี 2564 เป็นปีที่ยากลำบากจากผลกระทบโควิด-19 โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 3 ที่จำเป็นต้องระงับการบินทุกเส้นทางชั่งคราว เพื่อช่วยกันป้องกันการเเพร่ระบาดของโควิด-19 ตามนโยบายรัฐ ส่งผลโดยตรงต่อสภาพคล่องเเละกระเเสเงินสด ทำให้บริษัทต้องปรับตัวครั้งใหญ่ในการปรับลดขนาดองค์กรให้เหมาะสม พร้อมหาเงินทุนปรับโครงสร้างกิจการได้สำเร็จในช่วงท้ายปี ซึ่งทำให้บริษัทพร้อมเต็มที่สำหรับการแข่งขันและฟื้นตัวอย่างรวดเร็วที่สุด

“ตลอดปีบริษัทไม่เคยหยุดนิ่งในการปรับตัวและแสวงหาทุกโอกาสที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะการขยายธุรกิจด้านคาร์โก เช่าเหมาลำ และประโยชน์จากการปรับโฉมแบรนด์สู่ airasia Super App บุกธุรกิจไลฟ์สไตล์ ทำให้บริษัทมีฐานลูกค้าที่ใหญ่และครอบคลุมขึ้น ต่อยอดธุรกิจสายการบินได้อย่างดี” นายสันติสุขกล่าว

ในปี 2565 ถือเป็นปีแห่งการฟื้นตัวธุรกิจ ซึ่งบริษัทวางแผนเดินหน้ารุกเพิ่มความถี่และเส้นทางบิน สอดคล้องบรรยากาศการท่องเที่ยวเดินทาง โดยคาดว่าจะกลับมาบินเส้นทางภายในประเทศร้อยละ 100 พร้อมเปิดเส้นทางระหว่างประเทศได้ต่อเนื่องต่อไป อีกทั้งวางกลยุทธ์ให้ฐานปฏิบัติการการบินท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เสริมความแข็งแกร่งเส้นทางบินภายในประเทศ สร้างโอกาสการขนส่งทางอากาศควบคู่แผนขยายเส้นทางระหว่างประเทศ อีกทั้งยังพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มความสะดวกปลอดภัย ลดการสัมผัส ผ่านระบบจดจำใบหน้า ซึ่งจะนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้

ทั้งนี้ปี 2565 บริษัทตั้งเป้าหมายขนส่งผู้โดยสาร 12.3 ล้านคน อัตราขนส่งผู้โดยสารร้อยละ 78 โดยไม่มีแผนรับมอบเครื่องบินเพิ่ม พร้อมวางแผนคืนเครื่องบินหมดอายุตามสัญญาเช่าและหมุนเวียนเครื่องบินภายในกลุ่มแอร์เอเชีย คาดการณ์บริษัทจะมีฝูงบินอยู่ที่ 53 ลำ ณ สิ้นปี