ความปลอดภัยและสุขภาพ
ความปลอดภัยและสุขภาวะ
"ความปลอดภัย" คือสิ่งสำคัญสูงสุดของธุรกิจสายการบิน เพราะในธุรกิจการบินนั้นหากเกิดความผิดพลาดขึ้น จะก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร ลูกค้า และพนักงาน รวมทั้งส่งผลต่อภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นที่มีต่อบริษัทด้วย
บจ. ไทยแอร์เอเชีย จึงให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสารและพนักงานเป็นอย่างยิ่ง ทุกขั้นตอนในการปฏิบัติงานของทุกส่วนงาน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนปฏิบัติการบิน หรือการปฏิบัติงานภาคพื้นดิน ถูกกำหนด ดูแล ควบคุมด้วย "ระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัย (Safety Management System : SMS)" ที่ออกแบบให้สอดคล้องเป็นไปตามข้อกำหนดขององค์การการบินอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผู้ใช้บริการมั่นใจในความปลอดภัย เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนา ดำเนินการ ดำรงสถานะ และปรับปรุงกลยุทธ์ โดยมีกระบวนการดูแลความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ระดับความปลอดภัยสูงสุด และเป็นไปตามมาตรฐาน ระดับชาติและนานาชาติ ในขณะเดียวกันก็ให้คำมั่นสัญญากับผู้โดยสาร สำหรับการให้บริการเที่ยวบินราคาย่อมเยา ไว้วางใจได้ รวมทั้งการบริการให้ความสะดวกสบาย

ระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัย
ขั้นตอนการดูแลความปลอดภัยทั้งหมดนั้น เป็นไปตามคำชี้นำจากระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัย (SMS) ที่ครอบคลุมถึงอันตรายและการบริหารความเสี่ยงตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO : The International Civil Aviation Organization) ในเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัย (SMS) นี้ ได้ถูกเสริมความแข็งแกร่ง เพิ่มความรัดกุมมากยิ่งขึ้น ด้วยระบบการจัดการความปลอดภัยและคุณภาพแบบดิจิทัลของ Ideagen Coruson ซึ่งรวบรวมอันตรายและความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ทั้งหมดไว้ในรูปแบบเดียว ทำให้สามารถผนวกรวมกับกระบวนการตรวจสอบและการจัดการความเสี่ยงได้อย่างราบรื่น ไม่ติดขัด

ขอบเขตในการดำเนินงานของระบบบริหารการจัดการด้านความปลอดภัย
ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก

นโยบายและวัตถุประสงค์ด้านความปลอดภัย
- ปฏิบัติงานด้วยมาตรฐานความปลอดภัย สูงสุดตลอดเวลา โดยให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และ มาตรฐานสากล
- สร้างสิ่งแวดล้อมและสถานที่ปฏิบัติงาน ตลอดจนกระบวนการปฏิบัติงานให้มีความปลอดภัยอยู่เสมอ
- พร้อมสนับสนุนและจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย
- ปรับปรุงและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ด้วยการฝึกฝนทักษะที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน
- ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยภายในองค์กร โดยเริ่มจากการสร้างพฤติกรรมส่วนบุคคล เพื่อก่อเกิดจิตสำนึกที่ตระหนักถึงความปลอดภัย


การจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัย
เพื่อสามารถควบคุมความเสี่ยงและจัดการกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยได้นั้น จะมี 2 ขั้นตอน ด้วยกัน คือ
-
ชี้บ่งอันตราย
เพื่อค้นหาและจำแนกลักษณะ ขั้นตอน สาเหตุ และองค์ประกอบของสภาวะที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ และมีการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ มีการเผยแพร่ผลการวิเคราะห์ภาวะอันตรายนั้นอย่างเป็นระบบ
-
ประเมินและลดความเสี่ยง
นำข้อมูลมาประเมินความเสี่ยงว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถยอมรับได้หรือไม่ (Safety Risk Assessment) หากอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สามารถยอมรับได้ก็จะนำมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกัน หรือลดความเสี่ยงนั้น (Mitigation) ต่อไป
การประกันด้านความปลอดภัย
สร้างระบบเพื่อนำมาใช้ควบคุมความเสี่ยง และมีความมั่นใจว่าระบบมีความต่อเนื่องที่จะสามารถป้องกัน ความเสี่ยงใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ประกอบด้วย
-
ติดตามและประเมินความปลอดภัย
ติดตามการดำเนินการด้านความปลอดภัย และประเมินมาตรการในการควบคุมความเสี่ยงต่างๆ โดยระบบการรายงาน ระบบการตรวจสอบ ระบบการศึกษา วิเคราะห์ หรือระบบการสำรวจ เป็นต้น
-
บริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง
ประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลง และกำหนดมาตรการในการควบคุมความเสี่ยงนั้น
-
ปรับปรุงและพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง
ปรับระบบให้ทันต่อกฎระเบียบและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เพื่อพัฒนาให้ระบบทันสมัยอยู่เสมอ
การส่งเสริมด้านความปลอดภัย
บจ. ไทยแอร์เอเชีย ตระหนักดีว่าการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยต้องสร้างเสริมและปลูกฝังให้มั่นคง แนบแน่น ให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร ดังนั้น จึงมุ่งเน้นสร้างจิตสำนึกให้พนักงานทุกคน ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงพนักงานระดับปฏิบัติงานได้เข้าใจบทบาทของตนเอง และมีความระแวดระวังในการทำให้เกิดความปลอดภัยอยู่เสมอ โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้
-
ฝึกอบรมด้านความปลอดภัย ตามกฎหมายกำหนด
เพื่อให้พนักงานทุกคนมีความรู้ มีความชำนาญ ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัยได้อย่างมืออาชีพ
-
สื่อสารและประชาสัมพันธ์ด้านความปลอดภัย
จัดกิจกรรมเพื่อสื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัย เพื่อทำความเข้าใจและส่งเสริมให้ทุกคนตระหนักถึงความปลอดภัยร่วมกัน

กิจกรรมสร้างเสริมความปลอดภัย
ในปี 2561 บจ. ไทยแอร์เอเชีย ได้ดำเนินการสนับสนุนและจัดกิจกรรมด้านความปลอดภัย ในรูปแบบต่างๆ อาทิ
-
อบรมส่งเสริมความรู้แก่พนักงาน
โดยกำหนดหลักสูตรด้านความปลอดภัยลงในความจำเป็นในการฝึกอบรม (Training Need) รายบุคคลของพนักงานทุกคน เช่น หลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (OHS) หลักสูตร Safety Management System & Emergency Response Plan (SMS&ERP) หลักสูตรอบรมปัจจัยมนุษย์ (Human Factors) สำหรับพนักงานปฏิบัติการลานจอด พนักงานภาคพื้น และหลักสูตรการอบรมดับเพลิงขั้นต้น (Basic Firefighting)
-
อบรมหลักสูตรด้านความปลอดภัยสำหรับนักบินและลูกเรือ
ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เช่น หลักสูตรการฝึกเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน (SEP: Safety Emergency Procedures) เช่น การฝึกซ้อมดับเพลิงเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ในเครื่องบิน (Evacuation Drill) การฝึกซ้อมเพื่อเปิดประตูทางเข้าหลักและประตูฉุกเฉินในกรณีปกติและกรณีฉุกเฉิน (Door Drill) การฝึกกู้ภัยและช่วยชีวิตในกรณีเครื่องจอดฉุกเฉินบนผิวน้ำ (Water / Ditching Drill) การซ้อมออกจากเครื่องบินโดยใช้สไลด์ (Slide Drill)
นอกจากนั้นยังฝึกอบรมตามข้อกำหนดของ ICAO อีกด้วย อาทิ
-
โครงการเฝ้าระวังอุบัติเหตุ
เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นการปลูกฝังวัฒนธรรมความปลอดภัยทั่วทั้งองค์กร ซึ่งจะมีการสังเกตการปฏิบัติงานทุกวัน ส่งรายงานผลการสังเกตให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมอบ รางวัลให้ทีมที่ได้คะแนนร้อยละ 100 ในทุกๆ ไตรมาส
-
กิจกรรมการรายงานอันตราย
เน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานในการค้นหาอันตราย หรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย และดำเนินการปรับปรุงแก้ไขอันตรายที่ได้รับรายงานจากพนักงาน เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุ อุบัติการณ์เชิงรุก
-
ฝึกซ้อมเต็มรูปแบบตามแผนฉุกเฉิน
ร่วมกับสนามบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน
-
ฝึกอบรมทีมผู้ช่วยเหลือพิเศษ
เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารและญาติผู้โดยสาร กรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
-
จัดทำบันทึกสถิติที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย
โดยมีกระบวนการตรวจสอบความสำเร็จด้านความปลอดภัย "AirAsia Safety Performance Monitoring Process" เป็นหลักในการทำงาน ทั้งนี้ได้กำหนดดัชนีชี้วัดความสำเร็จด้านความปลอดภัย (Safety Performance Indicators : SPI) เพื่อการติดตามและปรับปรุงกระบวนการในการเสริมสร้างความปลอดภัยและสุขภาวะในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น และติดตามผ่านการประชุม คณะกรรมการความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (คปอ.) และประชุมติดตามด้านความปลอดภัยโดยผู้บริหาร (Safety Review Board) โดยกำหนดส่งบันทึก สถิติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะและความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมการทำงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และติดตามดำเนินการแก้ไข ผ่านการประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยเดือนละ 1 ครั้ง แต่หากมีข้อบ่งชี้ปัญหาเพิ่มขึ้นจากค่าเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีแนวโน้มที่จะเกิดอันตรายหรือความเสี่ยงได้ จะนำปัญหานั้นเข้าประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยทันที

กระบวนการเฝ้าติดตามประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านความปลอดภัย
บจ. ไทยแอร์เอเชีย

ระบบการป้องกันของสายการบิน
บจ. ไทยแอร์เอเชีย มีระบบการป้องกันด้านความปลอดภัยที่มีกระบวนการทำงานร่วมกัน 3 ระบบอย่างมีประสิทธิภาพ มีเป้าหมายเพื่อลดความเสียหายและบาดเจ็บที่เกิดจากการทำงาน เพื่อทำให้พนักงาน ผู้โดยสาร มั่นใจด้านความปลอดภัยได้อย่างเต็มที่

การจัดการคุณภาพ
มุ่งเน้นการปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องตามกฎระเบียบที่กำหนดเอาไว้ เพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้โดยสาร รวมถึงระบุความต้องการในการปฏิบัติงานและอันตรายที่จะเกิดขึ้นในขณะปฏิบัติงาน ทั้งนี้การจัดการคุณภาพ มุ่งเน้นการพัฒนาการดำเนินงานที่สอดคล้องตามระเบียบ และมีการควบคุมให้ตรงกับความต้องการ
การประกันคุณภาพ
มุ่งเน้นคุณภาพก่อนการให้บริการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- กระบวนการพัฒนา
- การตรวจสอบทรัพยากร
- การตรวจสอบการเพื่อประกันความปลอดภัย โดยเฉพาะประสิทธิภาพของการควบคุมความเสี่ยงด้านความปลอดภัย
- การทดสอบความสามารถของบุคลากร (รวมถึงผู้ให้บริการภายนอก)
- การทดสอบการปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎระเบียบ
กระบวนการประกันความปลอดภัย
มุ่งเน้นส่งเสริมการประกันคุณภาพ เพื่อวิเคราะห์ ควบคุมเอกสาร การตรวจสอบ และการจัดการการตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ในขณะที่การจัดการความปลอดภัย (Safety Management) มุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพความปลอดภัย วัตถุประสงค์ของการจัดการความปลอดภัย คือ สามารถระบุอันตรายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ประเมินความเสี่ยง และดำเนินการควบคุมความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและเหตุการณ์
การจัดการความปลอดภัย รวมถึงการประกันความปลอดภัย เช่นเดียวกับการประกันคุณภาพ โดยมีข้อกำหนด ดังนี้
- ควบคุมการปฏิบัติตามกฎระเบียบ
- ระบุความต้องการในการปฏิบัติงาน ปรับปรุง แก้ไขพื้นที่อันตราย และระบบความปลอดภัย รวมถึงการจัดการเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน
การรักษาความปลอดภัย
เพื่อปกป้องความมั่นคงด้านการบินพลเรือนให้มีมาตรฐานความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยจัดให้มีการป้องกันการกระทำอันเป็นการแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยที่ บจ. ไทยแอร์เอเชีย ได้พัฒนาและแก้ไขปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานและข้อแนะนำพึงปฏิบัติตามข้อกำหนดสากล โดยมีการประเมินความเสี่ยงด้านการรักษาความปลอดภัย และนำมากำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยง โดยการสำรวจตรวจเฉพาะด้าน ทดสอบและตรวจสอบทั้งระบบ ของมาตรการรักษาความปลอดภัยการบินและขั้นตอนการปฏิบัติงานอย่างละเอียด โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนควบคุมคุณภาพการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติ และทำให้มั่นใจว่ามีการแก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่องต่างๆ ที่ระบุไว้อย่างรวดเร็ว



ความปลอดภัยในอาหาร
อาหารที่จำหน่ายบนเที่ยวบินแอร์เอเชีย นอกจากมีจุดเด่นที่รสชาติอาหาร อร่อยถูกปากคนไทย ถูกใจผู้โดยสารทุกชาติแล้ว สิ่งสำคัญ คือ "ความสะอาด ปลอดภัยของอาหาร" ที่ต้องได้มาตรฐานตามกฎหมายกำหนด รวมถึงมีนโยบายด้านการแพ้อาหารเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เนื่องจากความปลอดภัยในอาหารส่งผลต่อผู้โดยสารและพนักงานของเราโดยตรง ซึ่งหากผู้โดยสารได้รับอาหารที่ไม่ได้คุณภาพ หรือแพ้สารอาหาร อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ และผลกระทบนี้ก็ย่อมสะท้อนกลับมาที่บริษัทของเรา เราจึงใส่ใจในทุกรายละเอียด เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกสรรอาหารขึ้นไปจำหน่ายบนเครื่องบิน ต้องมีข้อกำหนด ดังต่อไปนี้


ในตลอดปี 2561 บจ. ไทยแอร์เอเชีย ได้ให้บริการจำหน่ายอาหารบนเครื่องบินและได้รับการตอบรับจากผู้โดยสารเป็นอย่างดี ทั้งเมนูใหม่ๆ ที่สร้างสีสันและความอร่อยตลอดการเดินทางบนเครื่องบิน จึงทำให้ผู้โดยสารเกิดความพึงพอใจ ส่งผลให้มีข้อร้องเรียนจากผู้โดยสารอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด


กลยุทธ์ประกันคุณภาพอาหาร
กลยุทธ์ในการประกันคุณภาพอาหารที่ดีที่สุดสำหรับการเจริญเติบโตไปข้างหน้า คือ "ดีที่สุด ให้พร้อมเสมอ" โดยเริ่มต้นจากพื้นฐานระบบการผลิตและการจัดการเรื่องความปลอดภัยของอาหารที่ดีก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขลักษณะและอนามัยของผู้ทำงาน อาคาร สิ่งก่อสร้างที่ถูกออกแบบมา โดยเฉพาะรวมถึงการประยุกต์ใช้มาตรฐานความปลอดภัยในการผลิตอาหาร ถ้าสิ่งที่เป็นพื้นฐานเหล่านี้ทำได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ จะสามารถต่อยอดกระบวนการผลิต กระบวนการจัดการอาหาร ให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ และเพิ่มความปลอดภัยของอาหารให้กับผู้บริโภคได้สูงขึ้น ลดการร้องเรียนที่จะเกิดขึ้นได้ และสุดท้ายนำข้อกำหนดต่างๆ ด้านความปลอดภัยของอาหารมาประยุกต์ใช้
